หัวใจเต้นช้าแค่ไหนต้องพบแพทย์

หัวใจเต้นช้าแค่ไหนต้องพบแพทย์
แชร์

หัวใจเต้นช้ากว่าปกติสามารถเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือการสังเกตตนเอง ไม่ละเลยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเพื่อทำการตรวจรักษาโดยเร็ว


หัวใจเต้นช้ากว่าปกติคืออะไร

ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) หมายถึง ภาวะที่หัวใจเต้นช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที หรือภาวะที่หัวใจเต้นช้ากว่าที่ควรจะเป็น เช่น ภาวะช็อก ความดันต่ำ 80/50 มิลลิลิตรปรอท เมื่อความดันต่ำหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น หากหัวใจเต้นช้าหรือเต้นปกติแสดงว่าหัวใจเต้นช้าเกินไป ทำให้ปริมาณเลือดที่ถูกส่งออกจากหัวใจลดลง ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ในผู้สูงวัยและผู้ป่วยต้องระวังมากเป็นพิเศษ


ทำไมหัวใจถึงเต้นช้า

สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) แบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก ได้แก่

  1. สาเหตุจากภายในระบบการนำไฟฟ้าของหัวใจเช่น
    • ความเสื่อมของเซลล์ตามอายุที่เพิ่มขึ้น (Degenerative)
    • โรคหัวใจขาดเลือด
    • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
    • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือลิ้นหัวใจอักเสบ
    • ภาวะที่เกิดขึ้นหลังผ่าตัดหัวใจ
    • ฯลฯ
  2. สาเหตุจากภายนอกที่มีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าหัวใจเช่น
    • การออกกำลังกายเป็นประจำในนักกีฬา ทำให้หัวใจเต้นช้าลง
    • Vagal Reflex ปฏิกิริยาการตอบสนองของประสาทสมองคู่ที่ 10 เช่น การเบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระ การกลืนอาหาร การไอแรง ๆ เป็นต้น
    • ผลจากยาบางชนิด เช่น B-blocker, Verapamil, Diltiazem, Antiarrhythmic และ Digitalis
    • ยาเสพติด เช่น กัญชา, โคเคน
    • ภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism)
    • ภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia)
    • โรคทางสมองที่ทำให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น (Cushing Reflex) หรือเนื้องอกในสมอง
    • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA)

หัวใจเต้นช้ามีอาการอย่างไร

  • วูบ
  • หน้ามืด
  • เวียนศีรษะ
  • เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง
  • เป็นลม หมดสติ
  • หัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอดได้

หัวใจเต้นช้าบอกโรคอะไร

หัวใจเต้นช้าสามารถแบ่งตามตำแหน่งความผิดปกติของการนำไฟฟ้าในหัวใจ 2 ตำแหน่งสำคัญ ได้แก่

1) Sinus Node Dysfunction: SA Node อยู่บริเวณหัวใจห้องบนขวา เกิดจากความผิดปกติของ Sinus Node หรือการล้มเหลวของการสร้างกระแสไฟฟ้าของ Sinus Node หรือความผิดปกติของการนำกระแสไฟฟ้าออกจาก Sinus Node สู่หัวใจห้องบน (Atrium) อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Sick Sinus Syndrome ได้

นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ได้หลายแบบ เช่น

  • Sinus Bradycardia คือ หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
  • Sinus Pause หรือ Sinus Arrest คือ SA Node หยุดทำงานไปดื้อ ๆ หัวใจเต้นอยู่แล้วหยุดไป
  • Sinoatrial Exit Block คือ SA Node สร้าง Impulse แต่จังหวะส่งสัญญาณไปที่กล้ามเนื้อหัวใจอื่น ๆ โดน Block ทำให้เกิดการหยุดของคลื่นไฟฟ้าหัวใจคือหยุดการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจทั้งหมดเลือดจึงอาจไม่ไปเลี้ยงสมอง
  • Tachycardia – Bradycardia Syndrome คือ หัวใจเต้นเร็วสลับกับหัวใจเต้นช้า มักพบในผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) ซึ่งหัวใจจะเต้นเร็วเรื่อย ๆ ก่อนที่จะหยุดเต้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นจังหวะปกติ (Sinus Rhythm) ที่มีอัตราการเต้นหัวใจที่ช้าลง

หัวใจเต้นช้าแค่ไหนต้องพบแพทย์

2) Atrioventricular Node: AV Node อยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างหัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่าง เกิดจากการสกัดกั้นกระแสไฟฟ้าบริเวณ Atrioventricular Node ทำให้การนำไฟฟ้าจากหัวใจห้องบน (Atrium) ไม่สามารถลงมาสู่หัวใจห้องล่าง (Ventricle) ได้

โดยจะพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography หรือ EKG) ได้ดังต่อไปนี้

  • First Degree AV Block ไม่มีอาการ อาจไม่จำเป็นต้องรักษา
  • Second Degree AV Block อาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ แบ่งเป็น
    • Mobitz Type 1
    • Mobitz Type 2
    • 2:1 AV Block
    • High Grade AV Block
  • Third Degree AV Block หรือเรียกอีกชื่อว่า Complete Heart Block อัตราการเต้นของหัวใจช้ามาก อาจจำเป็นต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวร

หัวใจเต้นช้าแค่ไหนต้องพบแพทย์


หัวใจเต้นช้าแบบไหนควรพบแพทย์

ผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาทีร่วมกับมีอาการต่าง ๆ เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง อ่อนเพลีย วูบ หน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นลมหมดสติ หรือมีอาการหัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอด หรือในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางหัวใจโดยเร็วที่สุด สิ่งสำคัญนอกจากหัวใจเต้นช้ากว่าปกติคือต้องมีอาการร่วมด้วย หากหัวใจเต้นช้ากว่าปกติเพียงอย่างเดียวอาจมีลักษณะเหมือนนักกีฬาที่หัวใจเต้นช้ากว่าคนทั่วไปแต่ไม่เป็นอันตราย


ตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นช้าได้อย่างไร

  1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12-Lead EKG เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นช้า เช่น วูบ หน้ามืด เป็นลม นานพอในขณะที่ทำการตรวจ
  2. 24 – 48 hr. Holter Monitor เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการทุกวันหรือเกือบทุกวัน โดยแพทย์จะตรวจดูอาการหัวใจเต้นช้าร่วมกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
  3. Event Recorder เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากนัก เช่น 1 – 2 ครั้งต่อเดือน
  4. Implantable Loop Recorder เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการนาน ๆ ครั้ง เช่น 1 – 2 ครั้งต่อปี เป็นอุปกรณ์ที่ฝังใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกผู้ป่วย โดยจะบันทึก EKG ได้นาน 12 – 18 เดือน
  5. Exercise Stress Test (EST) ประเมินจากอัตราการเต้นของหัวใจผู้ป่วยที่ไม่สามารถเร็วขึ้นถึง 85% ของ Maximal Predicted Heart Rate (คำนวณจาก 220 – อายุ) ที่ Peak Exercise อัตราหัวใจเต้นเร็วที่สุด โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานยากดการทำงานของ Sinus Node หากเกิดร่วมกับอาการเหนื่อยขณะเดินสายพานถือว่าผิดปกติ ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยากดการทำงานของ Sinus Node ต้องงดยาก่อนเข้ารับการตรวจ 5 วัน
  6. Electrophysiology Study (EP Study) ทำในผู้ป่วยที่ไม่สามารถตรวจหาสาเหตุที่พบจากการตรวจชนิดอื่นที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น

หัวใจเต้นช้าแค่ไหนต้องพบแพทย์


หัวใจเต้นช้ารักษาได้อย่างไร

การรักษาภาวะหัวใจเต้นช้าขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นสำคัญ โดยแพทย์จะทำการประเมินอย่างละเอียดเพื่อหาวิธีการรักษาและระยะเวลาในการรักษาที่เหมาะสม

  1. หาสาเหตุของหัวใจเต้นช้าและรักษาตามสาเหตุ เช่น ผู้ป่วยรับประทานยากดการทำงานของ Sinus Node หรือ AV node ได้แก่ ยากลุ่ม B – blocker, Diltiazem, Verapamil, Antiarrhythmic และ Digitalis ให้หยุดยาดังกล่าวทันที หรือถ้าผู้ป่วยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันก็ให้ผู้ป่วยไปทำการสวนหลอดเลือดหัวใจเพื่อใช้ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
  2. บริหารยากระตุ้นหัวใจผ่านทางหลอดเลือดดำ เช่น Atropine, Epinephrine, Dopamine เป็นต้น เพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติแบบเฉียบพลัน
  3. Transcutaneous Pacing ติดเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชั่วคราวนอกร่างกาย ใช้งานได้ดีในภาวะฉุกเฉิน แต่ไม่สามารถใช้ได้ในระยะยาว เนื่องจากผู้ป่วยจะกระตุกและบาดเจ็บจากการกระตุกบริเวณกลางหน้าอกผู้ป่วยตลอดเวลา
  4. Transvenous Temporary Pacing การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดชั่วคราวทางหลอดเลือดดำ โดยใส่ Lead ทางหลอดเลือดดำ (Jugular Vein) หรือหลอดเลือดดำใต้กระดูกไหปลาร้า (Subclavian Vein) ให้ปลายสายอยู่ในหัวใจห้องล่างขวา (Right Ventricle)
  5. Permanent Pacemaker Implantation การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติแบบถาวร
    • ใส่ในผู้ป่วย Sinus Node Dysfunction ที่มีอาการขณะที่หัวใจเต้นช้า
    • ใส่ในผู้ป่วย Advanced 2nd degree AVB หรือ Complete Heart Block

อันตรายอย่างไรเมื่อหัวใจเต้นช้า

  • เป็นลมหมดสติ แล้วทำให้ศีรษะกระแทกพื้น มีเลือดคั่งในสมอง
  • หอบเหนื่อยมากจากการที่หัวใจล้มเหลวเฉียบพลันแล้วทำให้เกิดน้ำท่วมปอด
  • ถ้าเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นบริเวณกว้างจะทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อหัวใจเต้นช้า

ถ้าหัวใจเต้นช้าร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย วูบ หน้ามืด เป็นลมหมดสติ หรือเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ควรรีบมาพบอายุรแพทย์โรคหัวใจ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และให้การรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและการเสียชีวิตกะทันหัน


แพทย์ผู้ชำนาญด้านการรักษาภาวะหัวใจเต้นช้า

นพ.ยศวีร์ อรรฆยากร อายุรแพทย์โรคหัวใจและผู้ชำนาญการด้านสรีรไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาภาวะหัวใจเต้นช้า

คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลรักษาภาวะหัวใจเต้นช้า โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและทีมสหสาขาที่มากด้วยประสบการณ์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีหัวใจที่แข็งแรง

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 2 อาคาร H โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
info@bangkokhospital.com