Heart Attack รู้ทันป้องกันหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

Heart Attack รู้ทันป้องกันหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
แชร์

หลายคนมักคิดว่าภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ Heart Attack คืออาการหัวใจวายเฉียบพลัน ทั้งที่ความจริงแล้วเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือตีบกะทันหัน กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดรุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือตกอยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวจนทำให้หัวใจหยุดเต้น ดังนั้นการรู้ทันโรคเป็นเรื่องสำคัญเพื่อช่วยป้องกันและลดโอกาสการเสียชีวิต

รู้จักภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

Heart Attack หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยมีสาเหตุจากการที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันหรือตีบอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจจึงไม่บีบตัว เลือดไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ มีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย 


กลุ่มเสี่ยง Heart Attack

  • มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มีภาวะหลอดเลือดหัวใจผิดปกติ
  • มีโรคประจำตัว ได้แก่
    • เบาหวาน
    • ความดันโลหิตสูง
    • ไขมันในเลือดสูง
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • สูบบุหรี่
  • มีความเครียดสูง
  • มีน้ำหนักเกินเกณฑ์
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน 

อาการและสัญญาณเตือน

  • เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง 
  • หายใจไม่เต็มอิ่ม
  • แน่นหน้าอก 
  • จุกหน้าอก 
  • อ่อนเพลีย เช่น เคยขึ้นลงบันไดโดยไม่ต้องพัก กลายเป็นต้องพักระหว่างขึ้นบันได
  • รู้สึกหวิว คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว
  • ปวดร้าวไปแขน ไหล่ จุกใต้ลิ้นปี่
  • ปวดร้าวไปกราม คอหอย หรือแขนด้านในบริเวณสะบักทั้งสองข้าง จะเป็นมากเวลาออกกำลังกายและเครียด
  • แน่นท้องเหมือนมีอะไรมากดทับ คล้ายเป็นกระเพาะอาหาร

ตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

การตรวจวินิจฉัยก่อนภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) แพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจจะพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงและกลุ่มอาการเป็นหลัก โดยจะทำการซักประวัติอย่างละเอียด ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เอกซเรย์คลื่นหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจหาปริมาณแคลเซียมที่จับอยู่ที่ผนังหลอดเลือด ในผู้ที่อายุน้อยควรตรวจสุขภาพหัวใจทั่วไป ส่วนในผู้ที่อายุมากควรตรวจสุขภาพหัวใจเชิงลึก 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันโดยตรง เช่น แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย เป็นลม หน้ามืด ใจสั่น เป็นต้น ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ควรต้องเข้ารับการรักษาทันที เพื่อให้รักษาได้ถูกวิธีก่อนสายเกินไป 


Heart Attack รู้ทันป้องกันหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
รักษา
ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) แนะนำให้รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดที่มีอายุรแพทย์โรคหัวใจที่สามารถทำการขยายบอลลูนได้ มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษา โดยอายุรแพทย์โรคหัวใจจะทำการตรวจวินิจฉัย ตรวจวัดสัญญาณชีพ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือด หากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันแพทย์จะพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด ทำการสวนหัวใจภายใน 24 – 72 ชั่วโมง โดยทำบอลลูนขยายหลอดเลือดโดยเร็วที่สุด เนื่องจากหากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนานเกินไป กล้ามเนื้อหัวใจจะตาย ทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ดังนั้นถ้ามีอาการผิดปกติควรเรียกรถพยาบาลให้เร็วที่สุด สามารถโทร 1669 หรือ 1724 ได้ทันที โดยเฉพาะใน 3 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการ ถ้าถึงมือแพทย์ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะการรักษาจะมีประสิทธิภาพสูงและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย


ป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี 
  • กินอาหารที่ดีต่อร่างกาย เลี่ยงอาหารไขมันสูง ไม่กินอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ เน้นอาหารไขมันต่ำ กินผักผลไม้ที่มีกากใยมาก ปรุงอาหารด้วยการอบ นึ่ง ลวก ย่างแทนการทอด
  • ถ้ามีโรคประจำตัวต้องรับประทานยาให้สม่ำเสมอทั้งที่บ้านและเวลาเดินทาง 
  • จัดการความเครียดให้อยู่หมัด อาทิ นั่งสมาธิ ท่องเที่ยว ฯลฯ เพราะความเครียดทำให้หัวใจทำงานหนัก 
  • ออกกำลังกายวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์เพื่อให้เส้นเลือดขยายตัว 
  • นอนหลับพักผ่อนวันละ 6 – 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะหลัง 5 ทุ่มไม่ควรทำกิจกรรมอื่น ๆ
  • อย่าเริ่มสูบบุหรี่และเลิกบุหรี่ให้เร็วที่สุด
  • หากสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอย่ารอ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

การดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงคือสิ่งสำคัญ นอกจากกินให้ดีอยู่ให้ดีแล้ว ควรตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปีกับแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ เพื่อดูแลและให้คำแนะนำการป้องกันโรคหัวใจที่ถูกต้องในระยะยาว ช่วยให้ห่างไกลภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
info@bangkokhospital.com