ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม พร้อมผ่าตัดฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง

ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม พร้อมผ่าตัดฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง
แชร์

หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง

ในร่างกายมีหลอดเลือดแดงใหญ่ที่นำเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณใดมีการขยายตัวจนโป่งพองจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ซึ่งหากแตกออกจะทำให้เสียชีวิตได้ สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเส้นเลือดแดงโป่งพอง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคเบาหวาน สูบบุหรี่ ความเครียด น้ำหนักตัวมากเกิน โรคอ้วน

ซึ่งโรคเส้นเลือดแดงโป่งพองสามารถทราบได้จากการตรวจสุขภาพ เอกซเรย์ หรืออัลตราซาวนด์ ซึ่งโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีจะมีการตรวจลักษณะนี้รวมอยู่ด้วย ซึ่งถ้าตรวจพบในระยะแรกที่หลอดเลือดยังโป่งพองไม่มาก สามารถใช้ยารักษาและลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้หลอดเลือดไม่โป่งพองมากขึ้น หรือโป่งพองช้าลงได้


หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตกเซาะ

โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตกเซาะ โรคนี้จะไม่มีอาการใดมาก่อนล่วงหน้าเลย จะมีอาการเมื่อเกิดการแตกเซาะขึ้นแล้วเท่านั้น โรคนี้เกิดจากผนังของหลอดเลือดบางส่วนแตก แต่ไม่ได้ทะลุออกมาด้านนอก แต่จะแตกเซาะเข้าไปในผนังชั้นกลางของหลอดเลือดแดงใหญ่ ทำให้ผนังของหลอดเลือดด้นนอกโป่งออก ส่วนด้านในจะแฟบเข้า ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายผิดปกติ เช่น ถ้าเซาะไปที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือถ้าเซาะไปที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้

สำหรับโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตกเซาะมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ไม่มีอาการบอกล่วงหน้า จะมีอาการเมื่อเกิดการแตกเซาะแล้ว ส่วนใหญ่จะมีอาการแน่นหน้าอกและร้าวไปที่ด้านหลัง ในบางรายจะร้าวลงไปในช่องท้อง ในบางรายจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง หน้ามืด และหมดสติได้ สำหรับโรคนี้ถ้าเป็นการแตกเซาะของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องทรวงอกทางด้านหน้า ควรได้รับการผ่าตัดรักษาทันที มิฉะนั้นผู้ป่วยจะเสียชีวิต


โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีทีมแพทย์ที่พร้อมให้การรักษาผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคนี้สามารถทำการผ่าตัดได้ใน 1 – 2 ชั่วโมง”



อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงคือการป้องกันที่ดีที่สุด ควรรับประทานอาหารให้เหมาะสม ไขมันน้อย แคลอรี่ต่ำ เปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลง ชีพจรเต้นช้าลง ทำให้แรงกระแทกภายในหลอดเลือดแดงใหญ่น้อยลง โอกาสเกิดโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง หรือโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะก็น้อยลงเช่นกัน และควรลดความเสี่ยงด้วยการไม่ทานอาหารที่กระตุ้นทำให้ความดันโลหิตสูงและชีพจรเต้นเร็ว เช่น คาเฟอีน และอย่าเครียด

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.
info@bangkokhospital.com